...

ทำไมถึงต้องบำรุงรักษา ?  (ตอนที่ 2)

                ที่มาที่ไปของกิจกรรมการป้องกันปัญหาก่อนเกิด เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นนำระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance: PM) มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมๆกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมกระบวนการ ซึ่งจะใช้งานเครื่องจักรเป็นหลัก PM จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มขึ้นของคุณภาพและผลผลิตของผลิตภัณฑ์  ต่อมาเมื่อมีความต้องการลดแรงงานในอุตสาหกรรมประกอบและแปรรูปจึงได้มีการใช้เครื่องจักรทดแทนคนงานมากขึ้น  นั่นยิ่งทำให้มีการพัฒนาเครื่องจักรเป็นระบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น  โดยเฉพาะการเริ่มมีหุ่นยนต์ (ROBOT) ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มีความสนใจพัฒนา PM เพิ่มขึ้น  โดยให้มีลักษณะเฉพาะในสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเรียกกันว่า การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (TOTAL PRODUCTIVE MAINTENANCE) หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า TPM นั่นเอง

วัตถุประสงค์ของการบำรุงรักษาก็เพื่อคงสภาพหรือดำรงอยู่ ของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เราใช้งานอยู่ให้สามารถทำงานให้เราได้ เมื่อเราต้องการตลอดเวลา เหมือนตัวเราเองต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้คงสภาพ ที่แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยและมีความพร้อมตลอดเวลา การบำรุงรักษาของมนุษย์เราจะมีทั้งเฉพาะบุคคลและเป็นหมู่คณะ ซึ่งผลของการขาดการบำรุงรักษาระหว่างบุคคลกับหมู่คณะจะแตกต่างกันนั่นคือ ถ้าเป็นเฉพาะบุคคลการเจ็บป่วยก็จะอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นเช่นโรคประจำตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ส่วนหมู่คณะการเจ็บป่วยจะแพร่กระจายไปหลายๆคนเช่นโรคติดต่อหรือมลภาวะสิ่งแวดล้อม  เช่นเดียวกันเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เราใช้งานก็จะมีเฉพาะบุคคลหรือเรียกกันว่าประจำตัวก็ได้และเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันและประกอบกันเป็นกระบวนการของโรงงานหรือบริษัท ซึ่งผลของการขาดการบำรุงรักษาก็จะเหมือนกับมนุษย์เรานั่นเองคือเครื่องจักรอุปกรณ์ประจำตัวก็จะกระทบกับการดำรงชีวิตเฉพาะตัวเองในกรณีอยู่ที่บ้านหรือทำงานส่วนตัวเท่านั้นแต่ถ้าอยู่ที่โรงงานหรือบริษัทต้องทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ผลกระทบก็จะขยายไปยังคนอื่นๆด้วยไม่ใช่เฉพาะตัวเราเท่านั้น ส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันในโรงงานหรือบริษัทผลกระทบก็จะเกิดกับหมู่คณะที่ทำงานร่วมกันทั้งหมด

วิธีการบำรุงรักษาทีใช้กันถ้าเป็นมนุษย์ก็จะมีการพัฒนากันมาเป็นระยะๆเริ่มต้นด้วย การบำรุงรักษาหลังการเจ็บป่วย การบำรุงรักษาสุขภาพในสภาวะปกติ และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งการบำรุงรักษาของมนุษย์จะประกอบด้วย การบำรุงรักษาด้วยตนเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาร่วมกันหรือไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเมื่อต้องการบำรุงรักษาสุขภาพที่ดีไว้ หรือต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั่วไปเมื่อเจ็บป่วยมากรักษาตัวเองไม่ได้ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือพิเศษช่วยรักษา ส่วนการบำรุงรักษาของเครื่องจักรอาจมีความแตกต่างจากของมนุษย์ไปบ้างซึ่งจะมีการพัฒนามาเป็นระยะๆเช่นเดียวกันเริ่มต้นด้วย การบำรุงรักษาประจำวัน (Daily Maintenance) การบำรุงรักษาหลังเครื่องจักรชำรุดเสียหาย (Breakdown Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขหรือปรับปรุง (Corrective Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และสุดท้ายการป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Prevention) หรือการที่เราไม่ต้องบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ตลอดอายุการใช้งานเลย

แนวคิดในการบำรุงรักษาเครื่องจักรของญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับ การบำรุงรักษาด้วยตนเอง(Autonomous Maintenance) เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ว่า “การบำรุงรักษาที่ก่อให้เกิดผล”(Productive Maintenance) นั้นเป็นอย่างไร  ถ้าขาดการบำรุงรักษาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผลกระทบโดยตรงกับใครบ้าง มีผลข้างเคียงไปถึงใครบ้าง การสูญเสียที่เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าทำการบำรุงรักษาให้ดี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน

Total Productive Maintenance หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆว่า TPM  นั้นไม่ใช่ว่าโรงงานไหนอยากทำก็สามารถนำมาทำได้เลย เพราะ TPM สไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่นิยมทำกันมากมาจาก Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลกและมีผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์หลายคนร่วมกัน ทำวิจัยแต่งตำรา TPM ออกมาเผยแพร่ให้ความรู้ในการทำกิจกรรม TPM อย่างถูกต้องให้แก่อุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น โดยการทำกิจกรรมเริ่มต้นจะเน้นไปที่การดำเนินกิจกรรมในฝ่ายผลิตก่อนหลังจากนั้นก็จะขยายครอบคลุมไปถึงฝ่ายบริหาร การขายและฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ทั่วทั้งบริษัทจึงสอดคล้องกับความหมายของคำว่าTPM ในอดีตที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า TPM เป็นกิจกรรมเฉพาะการบำรุงรักษาเครื่องจักรของฝ่ายผลิตเท่านั้นซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะการจะก่อให้เกิดผลผลิตที่ดีออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันทำงานจึงจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้  TPM เป็นปรัชญาที่เริ่มต้นจากการให้ความรู้เพิ่มทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในการบริหารจัดการงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยมองที่แหล่งกำเนิดของปัญหาก่อนแล้วจึงตัดสินใจจัดการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับปัญหาให้ได้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นการนำTPM มาดำเนินการในโรงงานของประเทศญี่ปุ่นจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ TPM มาเป็นที่ปรึกษาคอยให้ความรู้และคำแนะนำในการทำกิจกรรม TPM เป็นระยะๆไปจนกว่าจะทำกิจกรรมจนติดเป็นนิสัยได้

สำหรับการนำ TPM มาใช้ในประเทศไทยปัจจุบันมีบริษัทที่สนใจทำกิจกรรม TPM เป็นจำนวนมากหลายบริษัทจนได้รับรางวัล TPM Awards  จาก JIPM ไปแล้วแต่มีอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมก็คือการไม่เข้าใจวิธีการ ขั้นตอนรายละเอียดต่างๆในการดำเนินกิจกรรมแม้ว่าจะมีตำราเป็นภาษาไทยให้อ่านแล้วก็ตาม ทำให้เกิดความสับสนในการทำกิจกรรม การทำกิจกรรมจึงไม่ต่อเนื่องหรือไม่ก้าวหน้าเลย ในบางบริษัทจึงมีความจำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็จะมีปัญหาตามมาอีกคือการสื่อสารจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย ต้องใช่ล่ามแปลให้อีกต่อหนึ่ง และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบันปัญหานี้เริ่มจะหมดไปเมื่อองค์กรของท่านใช้ ผู้เชี่ยวชาญคนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำกิจกรรม TPM โดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญของ  Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM)  เพื่อไปเป็นที่ปรึกษาการทำกิจกรรม TPM ที่ถูกต้อง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในอุตสาหกรรมไทยที่ต้องการทำกิจกรรม TPM  มาก  ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและความสะดวกในการขอรับคำแนะนำจากปรึกษาชาวไทยที่ใช้ภาษาไทยด้วยกันโดยมีเนื้อหาสาระการทำกิจกรรมTPM ไม่ผิดเพี้ยนไปจากญี่ปุ่นเลย

ในการทำกิจกรรม TPM การมีที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำตลอดโครงการเปรียบเสมือนเราเดินทางไกลไปในสถานที่ซึ่งเรายังไม่เคยไปเลยแม้ว่าเรามีการศึกษาเส้นทางการเดินทางจากแผนที่ การใช้ยานพาหนะ และสถานที่ติดต่อสอบถามระหว่างทางก็ตาม เราไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ว่าจะถึงจุดหมายด้วยเวลาเท่าใด  และถ้าเราเกิดหลงทางยิ่งทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้นไปอีก บางคนอาจถอดใจยกเลิกการเดินทางเดินทางกลับบ้านไปเลยก็มี หรือบางคนก็หาไม่พบจุดหมายเลยแม้จะพยายามค้นหาแล้วก็ตาม แต่ถ้าเรามีคนนำทางที่เคยไปสถานที่นี้มาแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าจะสามารถไปถึงจุดหมายตามกำหนดเวลาแน่นอน การทำกิจกรรม TPM ก็เช่นเดียวกัน การมีที่ปรึกษาจึงทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะสามารถไปถึงจุดหมายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นนั่นเอง

แต่การมีที่ปรึกษาแล้วไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายไปหมด เพราะการทำกิจกรรม TPM ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ค้นพบด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่อ่านจากตำราหรือให้ที่ปรึกษาอบรมในห้องเรียนเท่านั้น เมื่ออบรมกันแล้วต้องไปปฏิบัติจริงให้เห็นผลงานจริงออกมาให้ปรากฏ จนเกิดความภูมิใจจากการกระทำของตัวเราเอง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น การทำกิจกรรม TPM จึงจะก้าวหน้า

 








เรียบเรียงโดย  อาจารย์ณรงค์เกียรติ  นักสอ
ที่ปรึกษา TPM-JIPM

Seraphinite AcceleratorOptimized by Seraphinite Accelerator
Turns on site high speed to be attractive for people and search engines.