...

ทำไมถึงต้องบำรุงรักษา ? (ตอนที่ 1)

แนวคิดเรื่องการบำรุงรักษามีมานานแล้ว  คิดง่ายๆ ตั้งแต่เราโตมา  จนกระทั่งเริ่มช่วยเหลือตนเองได้ ใช้ครื่องมือทำความสะอาดร่างกายประจำวันเป็น เช่น แปรงสีฟัน หวี ขันน้ำ แก้วน้ำ กล่องสบู่ ฯลฯ   ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกวัน จึงต้องมีการจัดเก็บ  ทำความสะอาด  ให้มีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอไม่เช่นนั้นต้องเสียเวลาค้นหาและจัดเตรียมกันใหม่อยู่เรื่อยๆ  หรือการที่เราไปหาหมอตรวจสุขภาพประจำปีก็เพื่อให้รู้ว่าสภาพร่างกายของเราปัจจุบันนี้ยังคงปกติอยู่  หรือไม่  มีสมรรถนะความพร้อมของร่างกายดีอยู่หรือเปล่า  ซึ่งเราเรียกกันว่า การตรวจเช็คเพื่อการรักษาสุขภาพที่ดีของตนเอง

ในการทำงาน การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อทำการผลิต เครื่องจักรถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญ 1ใน4 อย่าง (4M) ซึ่งประกอบ ด้วย Man (คน) Machine  (เครื่องจักร) Material (วัตถุดิบ) และ Method (วิธีการ) ของการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาดี ตามความต้องการ   สมรรถนะความพร้อมของเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการผลิต  จึงมีความจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา  เพราะถ้าเครื่องจักรบกพร่อง หรือ ใช้ไม่ได้ หรือองค์ประกอบของการทำงานของเครื่องจักรไม่สมบูรณ์ หรือ ไม่ครบ ผลที่ได้คือ อาจผลิตของออกมาไม่ได้ หรือได้ก็ไม่ได้เป้า(ช้ากว่าที่กำหนด) หรือ ได้ก็เป็นของที่ไม่มีคุณภาพ

การบำรุงรักษาที่ดีจึงมีความสำคัญอย่างมาก  โดยต้องเริ่มจากการทำความสะอาด ตรวจสอบสภาพหลังการใช้งาน  เจอข้อบกพร่องก็ต้องคืนสภาพ (หรือซ่อม) ให้กลับสู่สภาพปกติ (เดิม) มีความพร้อมในการใช้งานตลอดเวลาและ จัดเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นระเบียบ  แต่ในทางปฏิบัติคนส่วนใหญ่มักไม่ปฏิบัติตามนี้ทั้งงานส่วนตัว เช่น  รถยนต์ หรืออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัว  และงานส่วนรวมเช่น  เครื่องจักรต่างๆ  จึงทำให้เกิดสภาพไม่พร้อมใช้งาน (เสีย  เดินๆ หยุดๆทำงานไม่เต็มสมรรถนะที่กำหนดไว้ ใช้งานได้แต่คุณภาพของงาน ไม่สม่ำเสมอดีบ้าง เสียบ้าง)  เกิดขึ้นกันอยู่บ่อยๆ

การซ่อมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้หรือ เครื่องจักร ซึ่งเป็นของใช้ส่วนตัว ของใช้ประจำบ้านเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง หรือผิดปกติเกิดขึ้นเรามีวิธีการซ่อมอย่างไร  เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ  แม้แต่จักรยาน จักรยายนต์ รถยนต์ก็เช่นเดียวกัน เครื่องใช้ประจำบ้านส่วนใหญ่ เรามักใช้วิธีการซ่อม แบบเสียแล้วจึงซ่อม (Break down) เช่นหลอดไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า นาฬิกา ไมโครเวฟ พัดลม แอร์ คอมพิวเตอร์ เครื่องเขียน โทรศัพท์ ฯลฯ ไม่มีใครใช้วิธีซ่อมก่อนเสีย (Preventive) เหมือนกับรถยนต์ เพราะรถยนต์ถ้าปล่อย ให้รถถึงกับเสีย วิ่งไม่ได้ก็จะต้องเดินกันไปทำงานกัน   แต่ของใช้ส่วนรวม อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องจักร ในบริษัทหรือโรงงานเราจะใช้วิธีการซ่อมแบบเครื่องใช้ประจำบ้านไม้ได้เพราะในระหว่างการปฏิบัติงานอยู่  ถ้าหากเครื่องมือเครื่องใช้ เกิดเหตุขัดข้องใช้งานไม่ได้หรือสภาพไม่พร้อมใช้งาน นั่นก็คือปฏิบัติงานไม่ได้นั่นเอง จะไม่มีผลผลิตหรือบริการออกมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเฉพาะบุคคลหรือหน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่มันเชื่อมโยงกันทั้งองค์การ เพราะงานมันต่อเนื่องกัน ตัวอย่าง เช่น ถ้าเครื่องจักรเสียช่วงใด ช่วงหนึ่งของกระบวนการ  ก็ไม่มีผลผลิตหรือบริการออกมาเลย มันสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากต่อองค์กรหรือโรงงาน ดังนั้นแนวคิดซ่อมก่อนเสียจึงเกิดขึ้น  ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) นั่นเอง

ทำไมเมื่อมีการบำรุงรักษา เชิงป้องกันแล้วรถยนต์ ยังเสียหายระหว่างการใช้งานอยู่เลย ผู้ที่ขับรถไปทำงาน ใช้รถมานาน ๆ ก็จะเข้าใจได้ดี ว่าเราดูแลบำรุงรักษารถ ตามกำหนดระยะเวลาที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดมาให้เป็นประจำ นำรถไปเข้าศูนย์บริการตรวจเช็กตามระยะทางและซ่อมเชิงป้องกันด้วยการเปลี่ยนอะไหล่ก่อน การชำรุดเสียหายจะเกิดขึ้นทุกครั้งยอมเสียค่าใช้จ่ายมากมาย แต่รถยนต์ก็ยังมีปัญหา ในระหว่างการใช้งาน เสียระหว่างการเดินทาง  เช่น เครื่องยนต์ขัดข้อง  แบตเตอรี่ไฟหมด ระบบส่งกำลัง เกียร์ เพลา คลัช ขัดข้อง ยางรั่ว ซึม แตก ระบบเบรค ศูนย์ล้อ น้ำหล่อเย็น หม้อน้ำตัน แอร์เสีย ฯลฯ ทำไมเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ที่ทำไปช่วยอะไรไม่ได้เลยหรือ

เครื่องจักรในโรงงานก็เช่นเดียวกันทำไมจึงยังมีการเสียหายระหว่างทำการผลิต (Beak down) ทั้ง ๆ นี้มีการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน กันอย่างดี บางโรงงานเครื่องจักรยังใหม่อยู่เลย บางโรงงานเพิ่งจะซ่อมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง บางโรงงานโชคดีหน่อย 6 เดือนแล้วเครื่องจักรยังไม่เสียเลย ทำไมจึงไม่มีความแน่นอนเลย ทุกวันนี้ทำงานอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลา  ถ้าวันไหนเครื่องจักรเสีย  คนงานก็จะไม่มีอะไรทำ นั่งรอนอนรอกันว่าเมื่อไร ช่างจะซ่อมเสร็จ สินค้าก็ส่งลูกค้าไม่ได้ รายได้ก็ไม่มีแต่ก็ต้องจ่ายค่าแรง ให้คนงานเต็มวัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นมองเห็นได้ทันที ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารโรงงานจึงอยู่เฉยไม่ได้ พยายามค้นหาวิธีบริหารการดูแลเครื่องจักร ไม่ยอมให้เครื่องจักรเสียระหว่างการผลิต เพราะรู้ฤทธิ์เดชของ Break down ดี แต่มีวิธีการหนึ่งที่โรงงานหลายแห่งค้นพบ และนำไปทดลองใช้ จนประสบผลสำเร็จมาแล้วหลายโรงงาน   แล้ววิธีการที่ว่านี้คืออะไร  ทำอย่างไรเราจะมาคุยกันในตอนต่อไป

 







เรียบเรียงโดย  อาจารย์ณรงค์เกียรติ  นักสอ

ที่ปรึกษา TPM-JIPM

Seraphinite AcceleratorOptimized by Seraphinite Accelerator
Turns on site high speed to be attractive for people and search engines.