1. ของเสียด้านคุณภาพคืออะไร

1.1 ปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบัน

ในที่ทำงานของพวกเรา มีปัญหาต่าง ๆ หลากหลายมากมาย และระดับของปัญหาก็มีต่าง ๆ นานา

สิ่งสำคัญคือการ “สังเกตเห็นปัญหาว่าเป็นปัญหา”

ทุกคนคงเคยคิดแบบนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งใช่ไหม

โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคุณภาพ ไม่ใช่แค่ของเสียด้านฟังก์ชั่นหรือสมรรถนะ แต่ยังรวมถึงปัญหาที่มีผลกระทบต่อภาพรวม เช่น ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าต้องการ อย่างเช่น ราคาหรือกำหนดส่งมอบด้วย

1.2 กระบวนการถัดไปคือลูกค้า

คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่พวกเราผลิตขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดโดยพวกเราซึ่งเป็นผู้ผลิต แต่กำหนดด้วยความต้องการ-needs ของลูกค้า

คำว่าลูกค้าไม่ได้ใช้เรียกแค่บริษัทที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา  ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่พวกเราผลิต ในการจะผลิตจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่ง จะต้องผ่านหลายกระบวนการ และหลายการปฏิบัติงาน ก็อย่าลืมว่ากระบวนการ หรืองานถัดไปของผลิตภัณฑ์ที่พวกเราผลิตขึ้นแล้วส่งให้ไป ก็คือลูกค้าของพวกเราเหมือนกัน

ผังที่ 1-1 สิ่งที่เรียกว่า “คุณภาพ”

1.3 ควบคุมคุณภาพ

สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น แต่กลับกัน “คุณภาพไม่ดี” คือเป็นอย่างไร

สิ่งที่จะกำหนดเป็นตัววัดว่าดี-ไม่ดี ก็คือก้าวแรกของกิจกรรมของเสียเป็นศูนย์ และเป็นพื้นฐานของการควบคุมคุณภาพ

ก่อนอื่น ต้องทำความชัดเจนกับคำว่า “คุณภาพ” ของผลิตภัณฑ์ที่ส่งให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะเป็นหัวข้อในการตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ อันเป็นผลจากการผลิต โดยต้องมีการนิยามคุณภาพอย่างชัดเจนด้วยการสำรวจตลาดและการวางแผนผลิตภัณฑ์

การควบคุมคุณภาพ จะเริ่มจากการพิสูจน์ความดีของ “คุณภาพผลิตภัณฑ์” ตามที่นิยามไว้อย่างชัดเจน ด้วยวิธีการที่เป็นกลาง

ต้องรู้สึกถึงปัญหาเช่นนี้ได้แต่เนิ่น ๆ และเชื่อมโยงสู่กิจกรรมไคเซ็น

พื้นฐานของกิจกรรมไคเซ็น เพื่อให้ของเสียด้านคุณภาพเป็นศูนย์

  • “ต้องจัดเตรียมการปฏิบัติงานและสภาพแวดล้อมให้ดี”
  • “ต้องยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น”

นั่นหมายถึง สิ่งที่พวกเราต้องไคเซ็นก็คือ วิธีการทำงาน (การปฏิบัติงานผลิต และสภาพแวดล้อมในการผลิต) นั่นเอง

1.4 ต้องจับปรากฏการณ์

จำเป็นต้องแสดงระดับของของเสียด้านคุณภาพด้วยตัวชี้วัดที่เป็นกลาง พวกเราสามารถแสดง “สภาพ” ของเสียได้อย่างถูกต้องหรือยัง

เรามีการตั้งชื่อสภาพของของเสียต่าง ๆ เช่น ของเสียด้านขนาด ของเสียรูปลักษณ์ภายนอก ของเสียคุณสมบัติไม่ได้… แต่เพียงแค่นั้นยังแสดง “สภาพ” ของของเสียอย่างถูกต้องไม่ได้

เมื่อแสดงด้วย “ของเสียด้านขนาด +0.2 มม.” “เกิดของเสียรูปลักษณ์ภายนอก 0.5%” จะดูเหมือนจับของเสียด้วยตัวเลข แต่ก็ใช่ว่าจะแสดงปรากฏการณ์ของ ของเสียด้านขนาด ของเสียรูปลักษณ์ภายนอกได้อย่างถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น ถึงจะบอกว่าของเสียด้านขนาด ก็ยังไม่รู้ว่าขนาดตรงไหนของผลิตภัณฑ์ หรือสมมุติว่ามีการระบุตำแหน่งแล้ว แต่ 0.2 ม.ม. นี่หมายถึงความคลาดเคลื่อนสูงสุด หรือว่าความคลาดเคลื่อนต่ำสุด หรือว่าเป็นค่าเฉลี่ยก็ไม่รู้ได้

ผังที่ 1-2 “ของเสียด้านขนาด” ของผลิตภัณฑ์แปรรูป

                           ถึงจะเป็น “ของเสียด้านขนาด” เหมือนกัน แต่…

คำนิยามของคุณภาพ ไม่ใช่แค่ “ชื่อ” สิ่งสำคัญคือต้องนิยาม “ปรากฏการณ์” อย่างถูกต้อง

ลำดับถัดไป ต้องจับปรากฏการณ์ว่าดีหรือไม่ดีออกมาเป็นตัวเลข  เพื่อการนี้ ต้องจับปรากฏการณ์อย่างถูกต้อง และต้องยกระดับเทคนิคในการตรวจวัดที่จะจับตัวเลขนั้นได้อย่างแม่นยำด้วยตัววัดที่เป็นกลาง  ระดับของ monodzukuri จะต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถวัดปรากฏการณ์คุณภาพ และมีเทคโนโลยีที่สามารถแสดงออกมาได้หรือไม่

1.5 ต้องให้ความสำคัญกับความแปรปรวน

ของเสียด้านคุณภาพ จะถูกตัดสินด้วยการเปรียบเทียบสเปกคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่กำหนด กับค่าที่วัดได้ของผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้ว  ในจุดนี้สิ่งที่ต้องระวังคือความแปรปรวน

(1) ค่าที่วัดได้มีความแปรปรวน

พวกเราใช้เครื่องมือหรือวิธีการตรวจวัดต่าง ๆ ทำการตรวจวัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ส่วนใหญ่ ผลการตรวจวัดจะแสดงด้วย “ค่าตัวแทน”

ยกเว้นกรณีที่มีการตรวจวัดทุกชิ้น ผลการตรวจวัดมักแสดงด้วย “ค่า” ทางสถิติ เช่น ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย   อย่าลืมว่า เป็นการเอาข้อมูลสุ่มตัวอย่างที่ค่าต่างกันด้วยวิธีการเก็บข้อมูลและวิธีการตรวจวัด มาเปรียบเทียบกับสเปกคุณภาพ

(2) การที่คุณภาพแปรปรวน

ไม่ใช่ปัญหาของการสุ่มตัวอย่างหรือการตรวจวัด แม้แต่ตัวผลิตภัณฑ์แปรปรวน ค่าตรวจวัดก็เกิดความแปรปรวนได้

เงื่อนไขการผลิตทุกอย่างเหมือนกัน ของที่ผลิตก็มีคุณภาพเหมือนกันหมด นี่เป็นอุดมคติ แต่ในความเป็นจริง ด้วยการเปลี่ยนแปลงของปัจจัย หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้คุณภาพที่ผลิตขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมักเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง

ผังที่ 1-3 ความแปรปรวนของคุณภาพ

ค่าตรวจวัดที่มีความแปรปรวนแต่เดิม ต้องรับรู้อย่างเพียงพอในการตัดสินว่า ค่านั้นอยู่ในสเปกหรือไม่ เป็นของดีหรือของเสีย พร้อมกันนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน แต่ผลิตภัณฑ์จะเกิดความแปรปรวนทางคุณภาพ (“แปรปรวนสูง” “แปรปรวนต่ำ”) ไปเอง

การหลุดจากเกณฑ์มาตรฐานทำให้เกิดของเสียก็เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหายิ่งกว่าคือการผลิตทั้งของดีและของเสียออกมา  มาตรการต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสีย ก็ยังไม่ยากเท่ามาตรการต่อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแปรปรวน

1.6 ของเสียเรื้อรัง

การที่ทำซ้ำให้เหมือนเดิมได้ยาก และความแปรปรวนของอัตราของเสียนี้ เราเรียกว่า ของเสียเรื้อรัง

ของเสียเรื้อรัง ถึงจะมีมาตรการต่าง ๆ แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้น ส่วนใหญ่ก็จะถอดใจ หรือปล่อยไป ว่ากันว่าจะทำให้เป็นศูนย์ได้ยาก

ลักษณะพิเศษของของเสียเรื้อรัง

  • มีหลายสาเหตุ
  • เกิดจากการสั่งสมของข้อบกพร่องเล็กน้อย (ข้อบกพร่องที่ซอยย่อยกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว)
  • ข้อบกพร่องเล็กน้อยที่เป็นสาเหตุบางทีก็เกิด บางทีก็ไม่เกิด

เป็นต้น จากการนี้ ส่วนใหญ่จึงมีความสัมพันธ์ของเหตุและผลไม่ชัดเจน จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีนวัตกรรมต่างจากเดิม

ด้วยเหตุนี้ ให้จำกัดวงของเวลา-สถานที่ที่ผลิตภัณฑ์นั้นเสร็จ เพื่อหาจุดเวลาหรือจุดที่เริ่มเกิดความแปรปรวน (ต้องจำแนกแจกแจงของเสียให้ดี) และ ณ จุดเวลาที่เริ่มแปรปรวน ต้องดำเนินการโดยจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ตรงหน้าของผลิตภัณฑ์ (หลักการ-กฎเกณฑ์ในการแปรรูป)


เรียบเรียงโดย  อาจารย์ณรงค์เกียรติ  นักสอน
ที่ปรึกษา TPM-JIPM